Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน(ทับทิมเทศ)
 
Counter : 20014 time
การเชิงวิเคราะห์เรื่องเทวดาในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๓๗)
Researcher : พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน(ทับทิมเทศ) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  นายประสิทธฺ์ จันรัตนา
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
Graduate : ๒๕ เมษายน ๒๕๓๙
 
Abstract

เทวดา เป็นคำที่ใช้เรียกชาวสวรรค์ ซึ่งเป็นภพภูมิของผู้ที่เคยสร้างคุณความดีเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทั้งเทวดาและมนุษย์จึงเกี่ยวข้องกันด้วยหลักธรรมคือหลักของกรรมที่จำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่าง ๆ กัน คือ ทรามหรือประณีต โดยถือเอามนุษยภูมิเป็นเกณฑ์หรือเป็นแดนแห่งพฤติกรรมที่ชักนำสัตว์ไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ สวรรค์มีมากชั้นด้วยกันตามระดับคุณธรรมของผู้บำเพ็ญกุศลธรรม แต่เทวดาก็เป็นปุถุชนเช่นเดียวกันกับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาในทางพฤติกรรมจึงเป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน พระพุทธศาสนาได้ชี้แนวทางแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา ด้วยการวางท่าทีแห่งเมตตา มีไมตรีจิต อยู่ร่วมกันฉันมิตร เคารพนับถือซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์

          จากพฤติกรรมที่สืบเนื่องกันระหว่างมนุษย์กับเทวดา หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงเน้นถึงหลักธรรมของมนุษย์ในการชักนำสรรพสัตว์ให้บรรลุประโยชน์ทั้งหลายด้วยความไม่ประมาท ด้วยการดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องควบคุม ไม่พลั้งเผลอ ไม่ประพฤติในทางเสื่อม ประกอบคุณงามความดี และบำเพ็ญบุญกิริยาทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนั้น ภพภูมิจึงเกิดขึ้นด้วยการอาศัยกันและกันแห่งสภาวธรรมทั้งหลาย สำหรับผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพ จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้บรรลุสภาวะเช่นนั้นถือว่าเป็นปุถุชน จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด

          สังคมไทยมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาตลอดมา พร้อมกันนั้นก็มีคติความเชื่อเรื่องเทวดาตลอดถึงนรก สวรรค์ บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ จึงทำให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง การผสมผสานระหว่างคติความเชื่อเรื่องเทวดากับวัฒนธรรมจึงก่อให้เกิดความรู้เท่าทันโลก เหตุการณ์ของโลก และชีวิตตามความเป็นจริง ตามกฎแห่งสามัญลักษณ์ นั่นคือ การเกิดขึ้น (อุปปาทะ) การตั้งอยู่ (ฐิติ) และการดับไป (ภังคะ) แห่งสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะดำรงชีวิตให้ถูกต้องดีงามด้วยการประพฤติปฏิบัติตามหลักแห่งศีลธรรม เพราะคติความเชื่อเรื่องเทวดาได้ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางศีลธรรมระหว่างเทวดากับมนุษย์ได้อย่างผสมผสานกลมกลืน ฉะนั้น คติความเชื่อดังกล่าวจึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงามของไทยที่สืบเนื่องมาจากเทวดาอีกมากมาย โดยอาศัยคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่มีการกล่าวถึงเรื่องเทวดา อันเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดพิธีกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งแก่สังคมไทยตลอดมา.
 

Download : 253906.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012