หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสามารถ ฐิตสทฺโธ (กล่ำดี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
ภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสามารถ ฐิตสทฺโธ (กล่ำดี) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระโสภณวราภรณ์, ดร.
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาระดับภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์  (๒) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางพัฒนาภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ พระสงฆ์ในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๓๐๒ รูป แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมีการหาคุณภาพ โดยการหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content validity) จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๕ ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ ๐.๙๔๐ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัย  พบว่า
๑. พระภิกษุมีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า พระภิกษุมีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ด้านอัตตัญญุตาอยู่ในระดับมาก และด้านอื่นๆ ก็อยู่ในระดับมาก
๒. เปรียบเทียบความคิดเห็นพระภิกษุต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์  โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ พรรษา วุฒิการศึกษาแผนกธรรม วุฒิการศึกษาแผนกบาลี และวุฒิการศึกษาสายสามัญ ที่แตกต่างกัน ผลการวิจัยพบว่า พระภิกษุมีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ด้านอายุ วุฒิการศึกษาแผนกธรรม วุฒิการศึกษาแผนกบาลี และวุฒิการศึกษาสายสามัญไม่แตกต่างกัน  ส่วนในด้านพรรษาแตกต่างกัน โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์  ปัญหาที่มีต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ (๑) พระสังฆาธิการบางรูปไม่มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน (๒) พระสังฆาธิการบางรูปเชื่อมั่นในการทำงานของตนเองสูงเมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้วทำให้งานเกิดความเสียหายและเสียเวลาแก้ไข เพราะไม่ยึดหลักการ (๓) พระสังฆาธิการบางรูปยังขาดเหตุผลในการปฏิบัติงาน ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมในการบริหารงาน ถือสิ่งที่เคยปฏิบัติมาแล้ว และไม่ค่อยแก้ไขหรือพัฒนาตนเอง  อุปสรรคที่มีต่อภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ (๑) การนำเสนอปัญหาต่อพระสังฆาธิการ  แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงพุทธของพระสังฆาธิการ (๑) ควรมีการจัดสัมมนาอบรมพระสังฆาธิการอย่างจริงจัง (๒) ควรดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้มากขึ้น และนำเสนอประโยชน์ของงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้โดยทั่วถึง

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕